วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

- งานประเพณีไหว้พระธาตุ เมืองน่านเป็นเมืองหนึ่งในดินแดนล้านนาที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่มาถึงเป็นเวลาช้านาน ในเขตเมืองเก่า ทั้งในตัวเมืองน่านและที่อำเภอปัว จะมีพระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาเด่นเป็นสง่าในรอบปีมีงานประเพณีบูชาพระธาตุสำคัญ ได้แก่ - งานนมัสการพระธาตุเบ็งสกัด ในวันขึ้น ๑๕ค่ำ เดือน ๔ เหนือ (ประมาณเดือนมกราคม)- งานประเพณี "หกเป็งไหว้สามหาธาตุแช่แห้ง" ในวันเพ็ญเดือน ๖ เหนือ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔ ภาคกลาง ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม) มีการจุดบ้องไฟถวายเป็นพุทธบูชา- งานประเพณีนมัสการพระธาตุเขาน้อย ในวันเพ็ญเดือน ๘ เหนือ (ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ภาคกลาง ประมาณเดือน พฤษภาคม) มีงานนมัสการพระธาตุเขาน้อย และมีการจุดบ้องไฟถวายเป็นพุทธบูชา- งานประเพณีนมัสการสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ วัดสวนตาลช่วงเทศกาลสงกรานต์ ๑๒-๑๕ เมษายน- งานตานก๋วยสลาก งานแห่คัวตานหรือครัวทาน ทานสลาก หรือก๋วยสลากเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล สำหรับชาวเหนือถือว่าเป็นประเพณีทำบุญกลางบ้าน ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นพระภิกษุ จะรับนิมนต์เพื่อมารับการถวายทานโดยการจับสลาก
- พิธีสืบชะตา เป็นประเพณีโบราณ มักทำในโอกาสต่างๆ เช่นวันเกิดอายุครบรอบ ฟื้นจากการเจ็บป่วย การสืบชะตาถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นสิริมงคล ขับไล่สิ่งเลวร้ายให้ผ่านพ้นไป ต่อมามีการประยุกต์พิธีสืบชะตากับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- ดนตรีพื้นบ้าน ปิน สะล้อ ซอน่าน พ่อครูไชยลังกา เครือเสน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) คือผู้เชี่ยวชาญปิน (ซึง) และสะล้อและยังสามารถประดิษฐ์เครื่องดนตรี คำร้อง ทำนองเพลงซอปั่นฝ้าย ศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่งคือ พ่อครูคำผายนุปิง ผู้ขับ "ซอล่องน่าน" ที่เล่าถึงตำนานการสร้างบ้านแปงเมืองน่าน ตามเรื่องเล่าขานกันมาช้านานว่า ครั้งเมื่อพระยาการเมืองอพยพย้ายเมืองจากวรนคร อำเภอปัว มาสร้างเมืองใหม่ที่ภูเพียงแช่แห้งนั้น ขบวนเสด็จแห่แหนใหญ่โตมาตามลำน้ำน่าน ผู้ติดตาม คือ ปู่คำมาและย่าคำปี้ ขับร้องโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวี คลอปินและสะล้อเพื่อไม่ให้การเดินทางน่าเบื่อ
- งานแข่งเรือประเพณีฉลองงาช้างดำจังหวัดน่าน ประเพณีแข่งเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานจัดในหน้าน้ำ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้จัดให้มีการแข่งเรือในงานทอดกฐินสามัคคีสืบทอด มาจนถึงงานทอดกฐินพระราชทานในปัจจุบัน ราวกลางเดือนตุลาคม หรือ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยถือเอาวันเปิดสนามแข่งเรือ ตามวันถวายสลากภัตของวัดช้างค้ำวรวิหารซึ่งเป็นวัดหลวง และจะจัดงานถวายสลากภัตก่อนวันอื่น งานแข่งเรือประเพณีขิงจังหวัดน่านจึงเป็นประเพณีคู่กับตานก๋วยสลากของวัดช้างค้ำมาจนทุกวันนี้ ภายหลังทางจังหวัดได้ผนวกงานสมโภชงาช้างดำ อันเป็นสมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่านเข้าไปด้วย นอกจากนั้นยังมีงานแข่งเรือที่อำเภอเวียงสาในเทศกาลตานก๋วยสลาก เรือที่เข้าแข่งแต่ละลำใช้ไม้ซุงใหญ่ๆ เอามาขุดเป็นเรือ เอกลักษณ์โดดเด่นของเรือแข่งเมืองน่าน คือ ที่หัวเรือแกะเป็นรูปพญานาค ชูคอสง่างาม หางเรือเป็นหางพญานาคงอนสูง ด้วยคนเมืองน่านเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนคือ เจ้าขุนนุ่น ขุนฟอง เกิดจากไข่พญานาคเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ การต่อเรือแข่งเป็นรูป พญานาคจึงถือเป็นการบูชาบุญคุณพญานาคผู้เป็น เจ้าแห่งน้ำและบรรพบุรุษของชาวเมืองน่าน ประเภทการแข่งขัน มีทั้งเรือใหญ่ เรือกลาง และเรือเล็ก รวมทั้งประเภทสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการประกวดกองเชียร์อีกด้วย และหากมาในช่วงฤดูซ้อมก่อนมีการแข่งขัน ช่วงเย็นๆ จะเห็นชาวบ้าน นักเรียนจับกันเป็นกลุ่มอยู่ริมน้ำเพื่อดูการซ้อมเรือ เชียร์ทีมเรือและฝีพายที่เป็นคนท้องถิ่น เป็นวิถีชีวิตที่มีสีสัน และ เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ นับเป็นประเพณีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
- งานเทศกาลส้มสีทองและงานกาชาดจังหวัดน่าน จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี บางปีอาจจัดร่วมกับเทศกาลของดีเมืองน่าน ส้มสีทองเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน พันธุ์เดียวกับส้มเขียวหวาน แต่ส้มสีทองจะมีเปลือกสีเหลืองทองสวยงาม และรสชาติหวานหอมอร่อยกว่า เป็นเพราะอิทธิพลของ ดินฟ้าอากาศคืออุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนต่างกัน ๘ องศา เป็นเหตุให้สาร "คาร์ทีนอยพิคเมนท์" ในเปลือกส้มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทองดังกล่าว กิจกรรมในงานที่น่าสนใจมีหลายอย่าง ได้แก่ การประกวดขบวนรถส้มสีทอง การออกร้านนิทรรศการ การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมจากอำเภอต่างๆ และจากเมืองฮ่อน-หงสา สปป.ลาว การแสดงพื้นเมืองและมหรสพต่างๆ อีกมากมาย

ประเพณี วัฒนธรรมเมืองแพร่

- งานประเพณีนมัสการพระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น ๙-๑๕ ค่ำ เดือนสี่ มีการแห่ผ้าขึ้นไปห่มองค์พระธาตุ มีขบวนแห่แบบล้านนา โดยผู้ร่วมงานทุกคนจะแต่งกายแบบพื้นเมืองล้านนา มีมหรสพสมโภชทุกคืน รุ่งเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ จะมีการทำบุญตักบาตร กลางคืนมีการเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ และพระวิหาร
งานแอ่วสงกรานต์น้ำใจเมืองแป้ นุ่งม่อฮ่อมแต๊งามตา จัดงานบริเวณศูนย์หัตถกรรมเวียงโกศัย ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๗ เมษายน ของทุกปี ในงานจะมีการแต่งกายด้วยชุดม่อฮ่อมล้อมวงกินขันโตก และเล่นสงกรานต์กัน
- งานเทศกาลลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟพะเนียงเวียงโกศัย จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ บริเวณท่าน้ำศรีชุม ภายในงานมีการจัดงานล้อมวงกินขันโตกแต่งกายด้วยชุดม่อฮ่อม

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ประเพณีและวัฒนธรรม เมืองเชียงใหม่

เมืองเชียงใหม่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน คนเชียงใหม่ได้สั่งสมวัฒนธรรมประเพณีสืบทอดมาจากบรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มีความผูกพันกับพุทธศาสนาและความเชื่อดั้งเดิม ประเพณีที่สำคัญ ได้แก่
- ปีใหม่เมือง (สงกรานต์) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี เป็นประเพณีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของชาวเชียงใหม่ แบ่งเป็นวันที่ 13 เป็นวันมหาสงกรานต์ มีขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ และพิธีสรงน้ำพระ วันที่ 14 เข้าวัดก่อเจดีย์ทราย และวันที่ 15 เมษายน ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีการเล่นสาดน้ำตลอดช่วงเทศกาล

- ประเพณียี่เป็ง จัดขึ้นในช่วงวันลอยกระทงของทุกปี ราวเดือนพฤศจิกายน มีการตกแต่งบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ ด้วยโคมชนิดต่างๆ มีการปล่อยโคมลอย มีการลอยกระทง ประกวดกระทงและนางนพมาศ


- ประเพณีเข้าอินทขิล จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ที่วัดเจดีย์หลวง เป็นการบูชาเสาหลักเมืองโดยการนำดอกไม้ธูปเทียนมาใส่ขันดอก


- เทศกาลร่มบ่อสร้าง จัดขึ้นในเดือนมกราคมของทุกปี ที่ศูนย์หัตถกรรมทำร่มบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง มีการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน มีการแสดงทางวัฒนธรรม ขบวนแห่ ประเพณีพื้นบ้าน

- มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ จัดขึ้นในอาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี บริเวณสวนสาธารณะบวกหาด มีขบวนรถบุปผาชาติ และนางงามบุปผาชาติ

- งานไม้แกะสลักบ้านถวาย จัดขึ้นในเดือนมกราคม ที่หมู่บ้านถวาย อำเภอหางดง มีการจำหน่ายและสาธิตการแกะสลักไม้ และหัตถกรรมพื้นบ้าน

ประเพณี วัฒนธรรม เมืองเชียงราย

ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และการละเล่นพื้นเมืองประจำจังหวัดเชียงราย

ด้านวัฒนธรรมประเพณี จังหวัดเชียงรายมีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานและปัจจุบัน
ได้จัดตั้งองค์กรทางด้านวัฒนธรรมเพื่อให้ท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการงานด้านวัฒนธรรม ดังนี้
1. จัดตั้งสภาวัฒนธรรมจังหวัด, สภาวัฒนธรรมอำเภอ และสภาวัฒนธรรมตำบล
จำนวน 16 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ 61 ตำบล
2. จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ที่สถาบันราชภัฏเชียงราย
3. จัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก บริเวณอาคารศาลากลาง (หลังเก่า)
เพื่อเป็นสถานที่แสดงวัฒนธรรมชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเชียงราย

จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองเก่าแก่ และมีการติดต่อสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศใกล้เคียง เช่น พม่าและลาวมาช้านาน ประกอบกับพลเมืองที่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่ต่างกันจึงเป็นเหตุให้วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ
ที่ปรากฏสืบทอดกันมาเป็นลักษณะผสมกลมกลืนหรือประยุกต์ขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรม ทางด้านภาษาซึ่งถือเป็นหลักของวัฒนธรรมทั้งปวงนั้น ชาวเชียงรายยังยึดมั่น ส่วนวัฒนธรรมทางด้านวัตถุซึ่งแสดงออก ในรูปของอาคาร วัดวาอาราม จะเห็นว่าเป็นลักษณะผสมพม่ากับลาวเวียงจันทน์ ยากที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จะบอกได้แน่นอนว่าเป็นแบบใด แต่ที่ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดเชียงราย คือ วัฒนธรรมเชียงแสน
ทางด้านประเพณีของท้องถิ่น ที่ยังมีให้เห็นตราบจนถึงทุกวันนี้ พอจะประมาณได้ดังนี้

1. ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่มาแต่โบราณ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี
ชาวเชียงรายถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนศักราชใหม่ ชาวบ้านเรียกกันว่า “วันสังขารล่อง” หมายถึงว่าอายุสังขารของคนเราได้ล่วงไปอีกปีหนึ่งนิยมไปจนถึงวันที่ 17 เมษายน ในแต่ละวันจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขนทรายเข้าวัด สรงน้ำพระพุทธรูปและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่

2. ประเพณีรดน้ำดำหัว เป็นการแสดงความคารวะแก่ผู้ใหญ่ เรียกว่าเพื่อขอขมาลาโทษในความ
ผิดพลาดต่าง ๆ ที่ผ่านมาและเป็นการแสดงออกถึง “กตเวทิตาธรรม” ต่อผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์หรือบุคคล
ที่เคารพนับถือ

3. ประเพณีสืบชะตา เป็นประเพณีของชาวไทยล้านนาโดยทั่วไป มีทั้งการสืบชะตาเมือง
สืบชะตาบ้าน และสืบชะตาบุคคลเพื่อความเป็นสิริมงคลความเจริญรุ่งเรือง มีการเตรียมเครื่องบูชาเซ่นไหว้ต่าง ๆ มากมาย เพื่อบูชาพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองส่วนการสืบชะตาบุคคลนั้นมักจะทำเนื่องในวันเกิด
งานขึ้นบ้านใหม่ หรือเมื่อเจ็บป่วย

4. ประเพณีทานข้าวสลาก หรือภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” หมายถึง ประเพณีถวายสลากภัตนั่นเอง เริ่มในวันเพ็ญเดือน 12 เหนือตลอดเดือนแล้ว แต่ที่ใดจะเห็นเหมาะสมจัดในวันใดก่อนวันพิธีถือว่าเป็น “วันดา” ชาวบ้านจะเตรียมเครื่องไทยทานแล้วนำไปวัดที่จัดงานเพื่อถวาย พระ สามเณร
มีการเขียนคำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตายและพวกเทวดาทั้งหลาย มีการจับสลากในการถวายตามหมายเลขว่าตรงกับพระรูปใดพระรูปนั้นก็จะรับประเคนและจะให้พร

5. ประเพณีลอยกระทง มีการลอยกระทงเช่นเดียวกับทางภาคอื่น ๆ ในวันยี่เป็ง (วันเพ็ญเดือนสิบสอง) ของทุกปี แต่ที่จังหวัดเชียงรายจัดเป็นพิเศษ โดยจัดให้การแห่กระทงไปลอยในแม่น้ำ มีการประกวดกระทงและนางนพมาศ จุดเทียนเล่นไฟ มีงานประเพณีใหญ่โต กระบวนแห่กระทง โดยทั่วไปกระทงเล็กจะลอยในวันขึ้น 15 ค่ำ ส่วนกระทงใหญ่ที่เข้าประกวดจะลอยในวันแรม 1 ค่ำ

6. ประเพณีทำบุญปอย มี 3 อย่างคือ
1) ปอยหลวง มีการทำบุญฉลองอย่างใหญ่โต เช่น ฉลองโบสถ์ วิหาร มักจะทำกันในเดือน 5 - 8 เหนือ (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม) ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว
2) ปอยน้อย หรือปอยบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีบวชพระหรือบวชเณร ก่อนทำบุญปอยน้อยเจ้าภาพต้องปรึกษาญาติพี่น้องก่อนว่าผู้ใดจะรับเอาอะไรในอัฐบริขารโดยการบอกบุญด้วยปากเรียกว่า “แอ่ง” “ผ้าอุ้ม” “ทนทอ” “แอ่งพระอุ้ม” คือ เอาผ้าสบงจีวรหรือหมวกที่พระใส่เรียกว่า “จ่อม”
ใส่ในถาดหรือพานแล้วให้คนถือไปบอกบุญ
3) ปอยข้าวสังข์ คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ตายเนื่องจากการคลอดบุตรการทำบุญปอยข้าวสังข์จะต้องนิมนต์พระมาสวด และเทศน์ที่บ้าน เครื่องไทยทานที่นิยมถวายเป็นบ้านเล็ก ๆ หรือเรือสำเภา
มีข้าวของต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า หม้อถังน้ำ กระจก หวี ฯลฯ เป็นต้น

7. ประเพณีจุดบ้องไฟ ชาวบ้านเรียกว่า “จิบอกไฟ” มักทำกันหลังสงกรานต์ระหว่างเมษายนถึงพฤษภาคม โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้หมู่บ้านเจริญรุ่งเรือง และมีฝนตกตามฤดูกาล นิยมจุดกันในเวลาพลบค่ำถึงกลางคืน

8. งานวันลิ้นจี่เชียงราย และสับปะรดนางแล จะจัดประมาณเดือนพฤษภาคม ในงานมีการประกวดลิ้นจี่/สับปะรด และผลิตผลเกษตรอื่น ๆ พร้อมทั้งมีการประกวดธิดาลิ้นจี่อีกด้วย

9. งานพ่อขุนเม็งราย จัดขึ้นประมาณปลายเดือนมกราคมของทุกปี เป็นงานประจำปีของจังหวัด
มีการออกร้านจัดนิทรรศการของส่วนราชการ และเอกชน และงานรื่นเริงอื่น ๆ

ประเพณี วัฒนธรรม เมืองพะเยา

จังหวัดพะเยา มีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมและการละเล่นพื้นเมืองที่สำคัญ ที่นิยมปฏิบัติ สืบทอดกันมา แต่โบราณจนถึงปัจจุบัน คือ

1. งานบวงสรวงพ่อขุนงำเมือง
เป็นงานประเพณีประจำปี (วันที่ 5 มีนาคมของทุกปี) เพื่อสักการะพ่อขุนงำเมือง เจ้าเมืองพะเยาองค์ที่ 9 (พ.ศ. 1781 – 1839) ผู้สร้างความรุ่งเรืองให้แคว้นพะเยาและร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่กับพญาร่วง และพญามังราย จะมีข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนชาวพะเยานำเครื่องสักการะมาทำพิธีบวงสรวงพระรูปที่อนุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้น ณ บริเวณสวนสมเด็จย่า 90 ถนนเลียบกว๊านพะเยา

2.ประเพณีไหว้พระธาตุดอยจอมทอง
วันเดือนหกเป็ง (เพ็ญเดือน 4) ทุกปี ชาวพะเยา พร้อมใจกันทำบุญไหว้พระธาตุดอยจอมทอง เพราะความเลื่อมใสศรัทธา

3. ประเพณีไหว้พระเจ้าตนหลวง
เป็นประเพณีที่ผู้คนมากราบไหว้พระเจ้าตนหลวงอย่างล้นหลาม เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว ในวันเดือนแปดเป็ง (เพ็ญเดือน 6) ประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี

4. ประเพณีไหว้พระธาตุวัดป่าแดง-บุญนาค
เป็นประเพณีที่ชาวพะเยา จะพากันทำบุญตักบาตรสวดมนต์ไหว้พระ เวียนเทียน รักษาศีลภาวนา ในวันเดือน 7 เป็ง (เพ็ญเดือน 5) ของทุกปี

5. ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ
เป็นพิธีขอน้ำขอฝน จากผีประจำขุนเขาที่เป็นต้นน้ำ เพราะเป็นเวลาที่ใกล้จะหว่านข้าวกล้า จะทำในวันปากปีของสงกรานต์เมืองเหนือ (วันที่ 16 เมษายน) ทุกปี

6. งานประเพณีสงกรานต์ (ปี๋ใหม่เมือง)
ล้านนาจะมีประเพณีสงกรานต์หรือประเพณีขึ้นปีใหม่ ตามการนับการจันทรคติ มี 4 วัน ในเดือนเมษายน ได้แก่

วันสันขานต์ล่อง
ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ชาวล้านนายังไม่ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่จะเป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน เสื้อผ้าที่อยู่อาศัยและหยุดทำงานประจำอื่นๆ ตอนเช้า จะมีการยิงปืนยิงพลุ ซึ่งถือว่าเป็นการขับไล่ตัวสังขานต์ พอตกเย็นทุกคนจะสระผมด้วยน้ำส้มป่อย เพื่อไล่เสนียดจัญไร


วันเนา หรือ วันเน่า
ตรงกับวันที่ 14 เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันไม่เป็นมงคล เพราะฉะนั้นทั้งวันชาวบ้านจะถือว่าเป็น วันดา (วันเตรียมของ) โดยจะมีการประกอบอาคารทั้งคาว หวาน โดยจะทำอย่างประณีตและสะอาด เพราะวันรุ่งขึ้นจะต้องนำไปถวายพระ ที่เหลือจะใช้เลี้ยงญาติพี่น้อง ตอนบ่าย ทุกคนจะช่วยกันขนทรายตามห้วยหนองและแหล่งน้ำ เข้าไปกองไว้ที่บริเวณวัด


วันพระยาวัน
ตรงกับวันที่ 15 เมษายน คนล้านนาถือว่าเป็นวันสำคัญที่สุด เพราะเป็นวันเถลิงศก หรือเริ่มต้นวันปีใหม่ เป็นวันมงคล โดยตอนเช้าชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานไปถวายพระที่วัด จนกระทั้งพิธีกรรมเสร็จเรียบร้อย จากนั้นญาติพี่น้องก็จะพากันไป “ดำหัว” คนที่เคารพนับถือ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ เป็นต้น เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวที และการอโหสิกรรมแก่กันและกัน


วันปากปี
ตรงกับวันที่ 16 เมษายน โดยชาวบ้านจะไปร่วมกันที่วัดพร้อมกับสะตวง (กระทง) ใส่เครื่องบูชาพระเคราะห์พร้อมเสื้อผ้าตนเองและคนในครอบครัว เพื่อบูชานพเคราะห์ทั้งเก้า โดยจะมีพระสงฆ์ทำพิธีกรรมซึ่งเชื่อว่าเมื่อทำแล้วคนในครอบครัวจะปราศจากเคราะห์กรรมตลอดปี

7. ประเพณีลอยกระทง (ประเพณียี่เป็ง)
ตรงกับวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ (เดือนพฤศจิกายน) ประเพณีนี้มี 2 วันคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ เรียกว่า วันยี่เป็ง เป็นวันขอขมาต่อแม่น้ำคงคา ในช่วงเช้าจะเป็นการทำบุญตักบาตร และมีเทศน์มหาชาติฉบับล้านนา ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงกลางคืน และกลางวันจะมีการปล่อยโคมลอยขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก กลางคืนจะมีการลอยกระทงเล็ก บริเวณรอบกว๊านพะเยา ส่วนวันที่สอง คือ วันแรม 1 ค่ำ จะมีการจัดกระทงขนาดใหญ่ของแต่ละหน่วยราชการต่าง ๆ มาร่วมขบวนแห่ โดยมีนางนพมาศนั่งประจำกระทงทุกกระทง ตลอดงานกลางคืนจะมีการจุดดอกไม้ไฟ โคมลอย ประดับประดาอย่างสวยงาม

8. งานประเพณีสลากภัต (ตานก๋วยสลาก)
โดยจะเริ่มตั้งแต่วันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ (เดือน 10) ประมาณเดือนกันยายน และจะสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือน 11) ชาวบ้านจะนำเอาสิ่งของต่างๆ เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม อาหารเป็นห่อนึ่ง ชิ้นปิ้ง (เนื้อย่าง) หมาก เมี่ยง บุหรี่ รวมใส่ในก๋วย (ตะกร้า) พร้อมกับยอด คือ สตางค์หรือธนบัตรผูกไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาและทรัพย์ของแต่ละครอบครัวเมื่อถึงวันทำบุญ ทุกครอบครัวจะน้ำก๋วยพร้อมสลากซึ่งจะเขียนใส่ในใบลานหรือกระดาษ ไปพร้อมกันที่พระวิหาร เพื่อทำพิธีตามพิธีสังฆกรรมทั่วไป โดยในวันพิธีจะมีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่าง ๆ นำขบวนแห่เครื่องไทยมาร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการทำบุญร่วมกันและสร้างสัมพันธ์ในชุมชนได้อย่างดี

9. งานพิธีแห่เทียนเข้าพรรษา
จะตรงกับวันอาสาฬหบูชา หรือวันเพ็ญเดือนแปด (เดือนกรกฎาคม) โดยคณะศรัทธาและหน่วยราชการทุกแห่งจะรวมกันหล่อเทียนที่แกะสลักอย่างสวยงามเพื่อนำมาร่วมเป็นขบวนแห่เทียนเข้าพรรษาของแต่ละปี เพื่อประกวดประชันความสวยงามของเทียน เมื่อมีการตัดสินให้รางวัลเรียบร้อยแล้ว คณะศรัทธาของแต่ละวัดจะนำเทียนเข้าพรรษาของวัดตนเองไปถวายพระสงฆ์เพื่อนำไปจุดบูชาในเทศกาลเข้าพรรษาต่อไป

10. พิธีเลี้ยงผีหนองเล็งทราย
จะจัดขึ้นวันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (เดือน 7) ของทุกปี ณ บริเวณหนองเล็งทราย อ. แม่ใจ ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ เพื่อสร้างจิตสำนึกของชาวบ้านให้รู้จักคุณค่าของแหล่งน้ำและช่วยกันอนุรักษ์

11. ประเพณีวันดอกคำใต้บาน
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี กลุ่มสตรีทุกระดับจะรวมพลังทำกิจกรรมร่วมกัน มีการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน การจำหน่ายผลผลิตพื้นบ้าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สตรีทุกคนสำนึกในศักดิ์ศรีของสตรี โดยเฉพาะความเป็นกุลสตรีของอำเภอดอกคำใต้