วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ประเพณี วัฒนธรรม เมืองเชียงราย

ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และการละเล่นพื้นเมืองประจำจังหวัดเชียงราย

ด้านวัฒนธรรมประเพณี จังหวัดเชียงรายมีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานและปัจจุบัน
ได้จัดตั้งองค์กรทางด้านวัฒนธรรมเพื่อให้ท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการงานด้านวัฒนธรรม ดังนี้
1. จัดตั้งสภาวัฒนธรรมจังหวัด, สภาวัฒนธรรมอำเภอ และสภาวัฒนธรรมตำบล
จำนวน 16 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ 61 ตำบล
2. จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ที่สถาบันราชภัฏเชียงราย
3. จัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก บริเวณอาคารศาลากลาง (หลังเก่า)
เพื่อเป็นสถานที่แสดงวัฒนธรรมชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเชียงราย

จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองเก่าแก่ และมีการติดต่อสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศใกล้เคียง เช่น พม่าและลาวมาช้านาน ประกอบกับพลเมืองที่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่ต่างกันจึงเป็นเหตุให้วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ
ที่ปรากฏสืบทอดกันมาเป็นลักษณะผสมกลมกลืนหรือประยุกต์ขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรม ทางด้านภาษาซึ่งถือเป็นหลักของวัฒนธรรมทั้งปวงนั้น ชาวเชียงรายยังยึดมั่น ส่วนวัฒนธรรมทางด้านวัตถุซึ่งแสดงออก ในรูปของอาคาร วัดวาอาราม จะเห็นว่าเป็นลักษณะผสมพม่ากับลาวเวียงจันทน์ ยากที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จะบอกได้แน่นอนว่าเป็นแบบใด แต่ที่ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดเชียงราย คือ วัฒนธรรมเชียงแสน
ทางด้านประเพณีของท้องถิ่น ที่ยังมีให้เห็นตราบจนถึงทุกวันนี้ พอจะประมาณได้ดังนี้

1. ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่มาแต่โบราณ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี
ชาวเชียงรายถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนศักราชใหม่ ชาวบ้านเรียกกันว่า “วันสังขารล่อง” หมายถึงว่าอายุสังขารของคนเราได้ล่วงไปอีกปีหนึ่งนิยมไปจนถึงวันที่ 17 เมษายน ในแต่ละวันจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขนทรายเข้าวัด สรงน้ำพระพุทธรูปและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่

2. ประเพณีรดน้ำดำหัว เป็นการแสดงความคารวะแก่ผู้ใหญ่ เรียกว่าเพื่อขอขมาลาโทษในความ
ผิดพลาดต่าง ๆ ที่ผ่านมาและเป็นการแสดงออกถึง “กตเวทิตาธรรม” ต่อผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์หรือบุคคล
ที่เคารพนับถือ

3. ประเพณีสืบชะตา เป็นประเพณีของชาวไทยล้านนาโดยทั่วไป มีทั้งการสืบชะตาเมือง
สืบชะตาบ้าน และสืบชะตาบุคคลเพื่อความเป็นสิริมงคลความเจริญรุ่งเรือง มีการเตรียมเครื่องบูชาเซ่นไหว้ต่าง ๆ มากมาย เพื่อบูชาพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองส่วนการสืบชะตาบุคคลนั้นมักจะทำเนื่องในวันเกิด
งานขึ้นบ้านใหม่ หรือเมื่อเจ็บป่วย

4. ประเพณีทานข้าวสลาก หรือภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” หมายถึง ประเพณีถวายสลากภัตนั่นเอง เริ่มในวันเพ็ญเดือน 12 เหนือตลอดเดือนแล้ว แต่ที่ใดจะเห็นเหมาะสมจัดในวันใดก่อนวันพิธีถือว่าเป็น “วันดา” ชาวบ้านจะเตรียมเครื่องไทยทานแล้วนำไปวัดที่จัดงานเพื่อถวาย พระ สามเณร
มีการเขียนคำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตายและพวกเทวดาทั้งหลาย มีการจับสลากในการถวายตามหมายเลขว่าตรงกับพระรูปใดพระรูปนั้นก็จะรับประเคนและจะให้พร

5. ประเพณีลอยกระทง มีการลอยกระทงเช่นเดียวกับทางภาคอื่น ๆ ในวันยี่เป็ง (วันเพ็ญเดือนสิบสอง) ของทุกปี แต่ที่จังหวัดเชียงรายจัดเป็นพิเศษ โดยจัดให้การแห่กระทงไปลอยในแม่น้ำ มีการประกวดกระทงและนางนพมาศ จุดเทียนเล่นไฟ มีงานประเพณีใหญ่โต กระบวนแห่กระทง โดยทั่วไปกระทงเล็กจะลอยในวันขึ้น 15 ค่ำ ส่วนกระทงใหญ่ที่เข้าประกวดจะลอยในวันแรม 1 ค่ำ

6. ประเพณีทำบุญปอย มี 3 อย่างคือ
1) ปอยหลวง มีการทำบุญฉลองอย่างใหญ่โต เช่น ฉลองโบสถ์ วิหาร มักจะทำกันในเดือน 5 - 8 เหนือ (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม) ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว
2) ปอยน้อย หรือปอยบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีบวชพระหรือบวชเณร ก่อนทำบุญปอยน้อยเจ้าภาพต้องปรึกษาญาติพี่น้องก่อนว่าผู้ใดจะรับเอาอะไรในอัฐบริขารโดยการบอกบุญด้วยปากเรียกว่า “แอ่ง” “ผ้าอุ้ม” “ทนทอ” “แอ่งพระอุ้ม” คือ เอาผ้าสบงจีวรหรือหมวกที่พระใส่เรียกว่า “จ่อม”
ใส่ในถาดหรือพานแล้วให้คนถือไปบอกบุญ
3) ปอยข้าวสังข์ คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ตายเนื่องจากการคลอดบุตรการทำบุญปอยข้าวสังข์จะต้องนิมนต์พระมาสวด และเทศน์ที่บ้าน เครื่องไทยทานที่นิยมถวายเป็นบ้านเล็ก ๆ หรือเรือสำเภา
มีข้าวของต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า หม้อถังน้ำ กระจก หวี ฯลฯ เป็นต้น

7. ประเพณีจุดบ้องไฟ ชาวบ้านเรียกว่า “จิบอกไฟ” มักทำกันหลังสงกรานต์ระหว่างเมษายนถึงพฤษภาคม โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้หมู่บ้านเจริญรุ่งเรือง และมีฝนตกตามฤดูกาล นิยมจุดกันในเวลาพลบค่ำถึงกลางคืน

8. งานวันลิ้นจี่เชียงราย และสับปะรดนางแล จะจัดประมาณเดือนพฤษภาคม ในงานมีการประกวดลิ้นจี่/สับปะรด และผลิตผลเกษตรอื่น ๆ พร้อมทั้งมีการประกวดธิดาลิ้นจี่อีกด้วย

9. งานพ่อขุนเม็งราย จัดขึ้นประมาณปลายเดือนมกราคมของทุกปี เป็นงานประจำปีของจังหวัด
มีการออกร้านจัดนิทรรศการของส่วนราชการ และเอกชน และงานรื่นเริงอื่น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น